ประวัติความเป็นมา

ประวัติสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 จึงมีการรวมตัวกันของนิสิตเก่าจัดตั้ง สมาคมวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมการทำกิจกรรมของนิสิตและนิสิตเก่าของคณะฯ

ในปี พ.ศ.2486 สมาคมวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกยุบรวมกับสมาคมนายช่างก่อสร้างแห่งกรุงสยาม จัดตั้งเป็นสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมกันร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยเหตุนี้ชาววิศวจุฬาฯจึงไม่มีสมาคมที่จะเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯเป็นการเฉพาะ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 กลุ่มนิสิตเก่าวิศวจุฬาอาวุโสมีความเห็นว่า นิสิตเก่าวิศวจุฬาฯควรมีศูนย์กลางในการทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสนับสนุนคณะฯและดูแลช่วยเหลือนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่าอาวุโสกลุ่มดังกล่าวจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้น โดยถือเอาวันที่ 1 มิถุนายน 2522 ซึ่งตรงกับวันครบรอบปีที่ 66 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นวันแห่งการสถาปนาชมรมโดยมี ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ เป็นประธานชมรมท่านแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 “ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้เปลี่ยนสถานะเป็น “สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หรือเรียกย่อว่า “ สวจ.” โดยมีเจตจำนงในการก่อตั้งดังนี้

  1. เพื่อเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าทุกรุ่นในการทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
  2. เพื่อให้การสนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามกำลังความสามารถในการธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติคุณ
  3. เพื่อให้การดูแลและช่วยเหลือนิสิตปัจจุบัน

โดยมี ฯพณฯ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ เป็นนายก สวจ.ท่านแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งสวจ.เป็นต้นมานั้น มีคณะกรรมการบริหารรวมทั้งสิ้น 21 ชุด มีนายก สวจ.ทั้งหมด 18 ท่าน

นายกในวาระปัจจุบัน (พ.ศ.2567-2568) คือ คุณวิโรจน์ เจริญตรา

คณะกรรมการ สวจ.แต่ละวาระได้สร้างผลงาน วางรากฐานการทำงาน สานต่องานเก่า และสร้างงานใหม่อย่างต่อเนื่องมาทุกยุุคทุกสมัย กล่าวคือ

สมัยที่ 1 และสมัยที่ 2 ( พ.ศ. 2525-2530) ฯพณฯ พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ (วศ.2486) เป็นนายก สวจ. ได้มุ่งเน้นการหาทุนทรัพย์สำรอง เพื่อการบริหารของกรรมการในยุคถัดมา การทำงานจึงเน้นไปที่การจัดกีฬาการกุศลเพื่อหารายได้ และการจัดงานคืนสู่เหย้า

สมัยที่ 3 และ สมัยที่ 4 (พ.ศ. 2531-2534) ดร.อาณัติ อาภาภิรม (วศ.2499) เป็นนายก สวจ. คณะกรรมการได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก มีการเชิญชวนนิสิตเก่าเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อความเข้มแข็งของสมาคมฯ นอกจากงานคืนสู่เหย้าและการจัดกีฬาหารายได้แล้ว สมัยนี้ยังมีการริเริ่มกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกาศเกียรติคุณวิศวกรดีเด่น การจัดเลี้ยงต้อนรับบัณฑิตใหม่ การจัดคอนเสิร์ตปราสาทแดงแห่งความหลัง การจัดทำบัตรสมาชิก นอกจากนี้ยังมีความคิดที่จะสร้างอาคารที่ทำการของสวจ.โดยการรื้อโรงอาหารออกวางแผนก่อสร้างเป็นอาคาร 5 ชั้น (ต่อมาภายหลังได้สร้างเป็นอาคารเรียน 20 ชั้นแทน) การทำกิจกรรมที่กล่าวมานี้ แม้จะประสบผลสำเร็จในเชิงรายได้ แต่นายก สวจ.ยังไม่คิดว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ เนื่องจากมีนิสิตเก่ายังมาร่วมงานในกิจกรรมน้อย กิจกรรมยังคงจำกัดอยู่ที่กลุ่มนิสิตพี่เก่าอาวุโส และนิสิตเก่าที่ถูกเกณฑ์มาจากหน่วยงานต่างๆ ดร.อาณัติจึงได้ฝากความเห็นไว้ก่อนหมดวาระว่า สวจ.ควรมีการพัฒนากลไกของการสื่อสาร เพื่อทำให้นิสิตเก่าได้รู้ถึงสิ่งที่สวจ.ตั้งใจจะทำ และเปิดโอกาสให้นิสิตเก่าแจ้งความต้องการ ว่าประสงค์ให้สมาคมทำกิจกรรมใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของนิสิตเก่าทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมของนิสิตเก่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

สมัยที่ 5 และสมัยที่ 6 ( พ.ศ. 2535-2538) คุณสมบูรณ์ มณีนาวา (วศ.2496) เป็นนายก สวจ. มีนโยบายปรับโครงสร้างการดำเนินงานของ สวจ.โดยวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของการดำเนินงาน โดยเฉพาะกลไกของการสื่อสาร การจัดทำทำเนียบนิสิตเก่า เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการสื่อสารกับนิสิตเก่า วางแผนปรับรูปแบบ สารสมาคม ซึ่งเป็นจดหมายข่าวของ สวจ.ขนาด 8 หน้า ให้เป็นวารสารที่เป็นรูปเล่ม จัดกิจกรรม ชุมนุมประธานรุ่น โดยเชิญประธานรุ่นมารับประทานอาหารพูดคุยเสนอความคิดเห็นแก่ สวจ. มีการวางแผน และร่างข้อบังคับชมรมกีฬา จัดสร้างที่ทำการชั่วคราวของ สวจ. กิจกรรมเหล่านี้ถูกดำเนินการไปพร้อมกับกิจกรรมประจำที่เคยทำอยู่

สมัยที่ 7 (พ.ศ. 2539-2540) คุณพละ สุขเวช (วศ.2500) เป็นนายก สวจ. ได้เร่งรัดทำสิ่งที่คณะกรรมการชุดก่อนจัดเตรียมไว้ ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น โดยจัดทำ ทำเนียบนิสิตเก่าวิศวจุฬา จนแล้วเสร็จ ออกวารสาร อินทาเนีย เป็นครั้งแรก โดยสวจ.อนุมัติให้จัดส่งให้นิสิตเก่าโดยไม่คิดมูลค่า มีการพัฒนา ชุมนุมประธานรุ่น ให้มีโครงสร้างใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้นเรียกชื่อใหม่ว่า คณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์ ประกอบด้วย ประธานรุ่น ตัวแทนคณาจารย์ ตัวแทนนิสิตเก่า และตัวแทนสวจ. ได้เชิญชวนนิสิตปัจจุบันเข้าร่วมกิจกรรมกับสวจ.อย่างใกล้ชิด ทำให้สวจ.เห็นภาพปัญหาภายในคณะชัดเจนขึ้น มีการศึกษาหาแนวทางในการสนับสนุนคณะ และแนวคิดการจัดตั้งกองทุน โดยริเริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกครบรอบ 84 ปี วิศวจุฬา (คุณโชค ศิวะสนธิวัฒน์ วศ.2507) และจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหารายได้เป็นทุนตั้งต้นของกองทุน

สมัยที่ 8 ( พ.ศ. 2541-2542) คุณวีระวัฒน์ ชลายน (วศ.2501) เป็นนายก สวจ.ได้ขยายผลสิ่งที่คณะกรรมการชุดก่อนได้สร้างไว้ โดย อินทาเนีย กลายเป็นวารสารที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากจากนิสิตเก่า คณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ มีตัวแทนรุ่นมาประชุมกันอย่างคับคั่ง โดยสาระสำคัญเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการผลิตบัณฑิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์

สวจ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการช่วยเหลือคณะฯ โดยมี รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ วศ.2515 เป็นประธาน จึงได้เกิด แผนพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้สะท้อนให้นิสิตเก่าเห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ หนทางที่จะแก้ไขปัญหา ตลอดจนแนวทางที่นิสิตเก่าจะเข้ามาช่วยเหลือคณะฯ สวจ.ได้ส่งผลการศึกษานี้ไปขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ หลังจากนั้นจึงได้ส่งมอบผลการศึกษาแก่ รศ.ดร. ณรงค์ อยู่ถนอม คณบดีในขณะนั้น แผนพัฒนาคณะฯนี้ได้นำไปสู่การร่างระเบียบจัดตั้งกองทุนพัฒนาคณะฯ ซึ่งภายหลัง สวจ.ได้ส่งมอบเงินสด 580,000 บาท และเหรียญที่ระลึกครบรอบ 84 ปีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มูลค่ารวม 7 ล้านบาทเป็นทุนตั้งต้นของกองทุนนี้ กองทุนพัฒนาคณะนี้เป็นกลไกที่ทำให้นิสิตเก่ามีโอกาสในการเสนอความคิดเห็นผ่านคณะกรรมการกองทุน และและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคณะฯโดยการให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของคณะ คณาจารย์ และนิสิต

ในสมัยนี้ถือกำเนิด ชมรมกอล์ฟวิศวจุฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตเก่ารุ่นต่างๆมาจนถึงปัจจุบัน สวจ.ยังได้ช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีงานทำในยุควิกฤตเศรษฐกิจ โดยการประสานผ่านวารสารอินทาเนีย และเป็นตัวกลางหางานให้ สวจ.ได้ร่วมกับคณาจารย์ทำแบบสอบถามไปถึงนิสิตที่สำเร็จการศึกษาระหว่าง 1 ปี ถึง 5 ปี เพื่อติดตามผลว่า ความรู้ที่ได้รับจากสถาบันนั้นเพียงพอต่อการทำงานหรือไม่ บัณฑิตใหม่มีความเห็นในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร นอกจากนี้ยังมีโครงการบูรณะอาคารแผนกสุขาภิบาลเพื่อสร้างเป็นที่ทำการของสวจ. และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่ดำเนินการในวาระนี้

สมัยที่ 9 ( พ.ศ. 2543-2544) ดร.เกษม ใจหงษ์ (วศ.2503) เป็นนายก สวจ. ได้มุ่งเน้นด้านโครงสร้างของ สวจ.โดยวางแผนการบริหาร โดยการแบ่งงานบริหารออกเป็น 4 สายงาน แต่งตั้งอุปนายกเป็นประธานในแต่ละสายงาน เพื่อให้ อุปนายกแต่ละท่านมีโอกาสรับผิดชอบกิจกรรมได้ชัดเจนขึ้น ส่วนงานปรับปรุงอาคารที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนหน้า ได้แล้วเสร็จและเปิดใช้ในสมัยนี้ ด้านกิจกรรม ได้จัดให้มีการบรรยาย จุฬาฟอรั่ม 2 ครั้ง จัดกิจกรรมแรลลี่ และจัดนิทรรศการเทคโนโลยีในชื่อ “ไทยเทค 2001”

สมัยที่ 10 (พ.ศ.2545-2546) ดร.ศรีสุข จันทรางศุ (วศ.2505) เป็นนายก สวจ. ได้จัดทำเว็บไซต์ www.intania.com มีการริเริ่มโครงการพี่เก่าแนะแนวน้อง มีการจัดงานนัดพบตลาดแรงงานทางวิศวกรรม และเริ่มโครงการ “กองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์”

สมัยที่ 11 ( พ.ศ. 2547-2548) คุณวิเศษ จูภิบาล (วศ.2506) นายก สวจ.ได้สานต่อโครงการ Intania Forum ให้มีสาระและเป็นประโยชน์แก่สมาชิกมากขึ้น จัดงานเสวนา Executive Engineer Talk จัดงานประกาศเกียรติคุณวิศวจุฬาดีเด่นแบบ Dinner talk

สมัยที่ 12 (พ.ศ. 2549-2550) คุณอดิเทพ พิศาลบุตร์ (วศ.2508) นายก สวจ.มีการสรรหาวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่นครั้งที่ 1 เพื่อจารึกนามผู้ทำคุณประโยชน์เข้าสู่หอกิตติคุณ (Hall of Fame) โดยกำหนดให้มีการสรรหาทุก 2 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การจัดงาน Dinner Talk และก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมนวัตกรรมวิศวกรรม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการวิศวกรรมโดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ นำไปสู่นวัตกรรมวิศวกรรมที่ล้ำหน้า

สมัยที่ 13 ( พ.ศ.2551-2552) คุณวิศิษฎ์ อัครวิเนค (วศ.2509) นายก สวจ. มีการจัดงาน Dinner Talk ต่อเนื่องมาจาก พ.ศ. 2556 เป็นการหารายได้เข้าสมาคมฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆของสมาคมฯ

สมัยที่ 14 ( พ.ศ.2553-2554) คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (วศ.2514) นายก สวจ. ได้ริเริ่มจัดทำโครงการสร้างสื่อสังคม และเครือข่ายสังคมวิศวจุฬาฯ (Social Media & Social Network) โดยคุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร (วศ.2529) ฝ่ายวิชาการและพัฒนา ได้จัดกิจกรรม Intania Leadership Network (ILN) The Side No Body Knows โดยรับสมัครสมาชิกเพื่อหาทุนสำหรับการจัดงานและเผยแพร่กิจกรรมให้สมาชิกและนิสิตปัจจุบันได้รับทราบ กิจกรรมนี้ยังมีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยที่ 15 (พ.ศ. 2555-2556) คุณวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล (วศ.2515) นายก สวจ. มีการระดมทุนจัดสร้างอาคารวิศวฯ 100 ปีร่วมกับ รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ (วศ.2513) คณบดีในขณะนั้น มีโครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ 101 รูป ถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เนื่องในโอกาสพิธีมหามงคลฉลองพระชันษาครบ 100 ปีวันที่ 3 ตุลาคม 2556 มีการเปิดโครงการรับบริจาคโลหิตจำนวน 1 ล้าน ซีซี และจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี คณะวิศวจุฬาฯ อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 9000 คน

สมัยที่ 16 ( พ.ศ. 2557-2558) คุณนำชัย หล่อวัฒนตระกูล (วศ.2517) นายก สวจ. ได้ปรับปรุงห้องสมุดของคณะฯให้มีความทันสมัย โดยระดมทุนจากนิสิตเก่าทุกรุ่น ปรับปรุงห้องเรียนในอาคารวิศวฯ 100 ปี ให้ทันสมัย มีการจัดงานวิ่งมินิมาราธอน ระยะทาง 3.5 กม. และ 10.5 กม. ในงานนี้มีนิสิตเก่าเข้าร่วมงานประมาณ 3,000 คน และการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 1 ในการจัดอันดับงานวิ่งมินิมาราธอนทั่วประเทศ นอกจากนั้น ในสมัยนี้ยังได้สานต่อโครงการรับบริจาคโลหิต 1 ล้านซีซี โดยใช้รหัส CU B-157 ในการบริจาคที่สภากาชาดไทยและได้รวบรวมโลหิตบริจาคครบจำนวน 1 ล้าน ซีซีตามต้องการ มีการจัด Innovation Hub โดยนำไทเทเนียมมาใช้เป็นกระดูกเทียม ทำข้อเข่าเทียมนำไปใช้กับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก มีการก่อตั้งชมรม Intania Open Innovation Club (IOIC) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อยอดสู่การทำธุรกิจ คุณราเมศวร์ ศิลปพรหม (วศ.2517) ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ได้มอบเงินส่วนตัวเป็นทุนในการดำเนินโครงการจำนวน 10,000,000 บาท เพื่อให้นิสิตปัจจุบันนำไปพัฒนาในการต่อยอดธุรกิจ

สมัยที่ 17 (พ.ศ. 2559-2560) คุณสรัญ รังคสิริ (วศ.2518) นายก สวจ. ได้จัดตั้ง ชมรม IYA (Intania Young Alumni) มีการจัดงาน IYA Forum และจัดงานวิ่ง Intania Chula Mini Marathon 2017 ซึ่งเป็นการจัดที่ได้รับการโหวตจากนักวิ่ง ให้เป็นงานวิ่งที่ดีเป็นลำดับที่ 2 ได้มีการร่วมจัดงานครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 26 มีนาคม 2560 มีการจัดทัศนศึกษา CU ENG Alumni Visual Education ให้แก่นิสิตเก่าได้ดูงานในสถานที่ต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากนิสิตเก่าเป็นอย่างดี มีการสานต่อชมรม Intania Open Innovation Club (IOIC) จัดห้อง C0-Working Space ให้นิสิตได้ใช้งานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีการเข้าร่วมงาน Startup Thailand และงาน Digital Thailand และยังมีการสานต่อโครงการบริจาคโลหิตต่อเนื่องจาก พ.ศ. 2555

สมัยที่ 18 (พ.ศ.2561-2562) คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (วศ.2520) นายก สวจ. ได้จัดงานวิ่งมินิมาราธอน ซึ่งเป็นอีกสมัยที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ได้มีการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ มีการอนุมัติจ่ายเงินจากกองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ให้แก่นิสิตเก่าที่เจ็บป่วยเรื้อรังไม่สามารถช่วยตนเองได้ มีการเปิดโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พัฒนาช่องทางการสื่อสาร เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มต่างๆ (Web site, Facebook และ Line) มีการจัดระบบฐานข้อมูล และจัดงานทะเบียน มีการรวบรวมรายชื่อ นิสิตเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456-2559 ประมาณ 50,000 รายชื่อให้อยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน จัดรวบรวม E-mail ของนิสิตเก่า กว่า 14,000 E-mail และโอนย้ายฐานข้อมูลต่างๆไปที่ server ของคณะฯ มีการจัดทำระบบสมาชิกแบบออนไลน์ จัดโครงการทัศนศึกษาเพื่อพานิสิตเก่าไปดูงานในสถานที่สำคัญๆหลายแห่ง

สมัยที่ 19 ( พ.ศ. 2563-2564) คุณอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ (วศ.2522) นายก สวจ.มีการจัดการปรับปรุงฐานข้อมูลนิสิตต่อเนื่องจากวาระก่อนหน้าให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในวาระนี้เป็นช่วงของโรคอุบัติใหม่โควิด 19 งานส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ป่วย มีการจัดตั้งโครงการ Intania Chula for Southern Hospital จัดสร้างห้องความดันลบให้แก่โรงพยาบาลในภาคใต้ 10 แห่ง รวมทั้งมีการแจกข้าวสารอาหารแห้งให้แก่ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบ

สมัยที่ 20 (พ.ศ.2565-2566) คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช (วศ.2524) นายก สวจ.เป็นช่วงเวลาแห่งการหลอมรวมใจวิศวจุฬาฯ ให้เป็นปึกแผ่นเพื่อฟื้นฟูคณะครั้งใหญ่ ระดมทุนจากนิสิตเก่าได้กว่า 135 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดใน 58 ปี ปรับปรุงลานเกียร์ ทาสีตึก 1 ตึก 2 ตึก 3 และอาคารอรุณ สรเทศน์ ปรับปรุงห้องน้ำตึก 3 ใหม่ทั้งหมด และระเบียงชั้น 2 ตึก 3 รวมถึงจัดทำห้อง INTANIA CLUB และ Hall of Fame โดยใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี และยังได้จัด INTANIA Music Fest เพื่อเปิดให้ชาวจุฬาฯ กว่า 7,000 คนมาร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 111 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้มอบเงิน 10 ล้านบาท สมทบทุนโครงการปรับปรุงโครงการเกเวอร์ต สแควร์ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และยังได้ร่วมกับคณะกรรมการนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ (กวศ.) ฟื้นฟูระบบ SOTUS จำลองกิจกรรมห้องเชียร์สอนน้องร้องเพลงและจัดงานวิ่งการกุศล CHULA INTANIA RUN 2024 นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนพัฒนากิจกรรมนิสิตได้กว่า 2.5 ล้านบาท

สมัยที่ 21 (พ.ศ.2567-2568) คุณวิโรจน์ เจริญตรา (วศ.2525) นายกสวจ. มีการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อนำ สวจ.สู่ Digital transformation และรองรับต่อนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สมาชิกสามารถปรับปรุงข้อมุลส่วนบุคคลได้ด้วยตนเอง โดยผ่านช่องทาง LINE OA Intania Alumni หรือเว็บไซต์ ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่ให้รองรับการใช้งานดังกล่าว

Scroll to Top

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?

คำเตือน

ท่านกำลังออกจากเว็บไซต์ปัจจุบัน
ท่านต้องการจะออกจากเว็บไซต์นี้หรือไม่?